ฟลูออไรด์ คนแพ้เป็นอย่างไร อาการและการแก้ไขอย่างไร
ฟลูออไรด์คือแร่ธาตุในธรรมชาติ สามารถพบได้ในแหล่งน้ำทุกแห่ง รวมทั้งในมหาสมุทร ผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าฟลูออไรด์ไม่เพียงลดฟันผุในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ยังช่วยซ่อมแซมฟันผุระยะแรก หรือแม้แต่ฟันผุที่ยังมองไม่เห็น ฟลูออไรด์เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันฟันผุได้ดีที่สุดและช่วยให้ฟันทุกซี่แข็งแรง
สารฟลูออไรด์ เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่นและไม่มีรส จึงทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบว่าในน้ำนั้นมีฟลูออไรด์หรือไม่ ปริมาณมากน้อยเพียงไร จนกว่าจะได้รับการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี ซึ่งตามมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำสำหรับบริโภค (มอก.257 เล่ม 1-2521) ได้กำหนดให้มีปริมาณฟลูออไรด์สูงสุดได้ไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสมที่สุด ยิ่งหากได้รับในปริมาณเข้มข้นและนานแล้วล่ะก็...จะเกิดเป็นพิษแก่ร่างกาย โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบด้วยกัน คือ
แบบที่หนึ่ง การเกิดพิษแบบเฉียบพลัน เกิดจากการรับประทานฟลูออไรด์ในปริมาณมากและ ในครั้งเดียวอาจด้วยการตั้งใจ ความเข้าใจผิด หรือด้วยการพลั้งเผลอ นอกจากนั้นอาจเกิดกับบุคคลที่ใช้ยาฆ่าแมลงบางชนิดซึ่งมีฟลูออไรด์ผสมอยู่มาก และใช้ไม่ถูกวิธี ปกติจะพบผู้ป่วยประเภทนี้ได้น้อย อาการพิษที่เกิดขึ้นเริ่มจากอาการน้ำลายไหล ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรให้ผู้ป่วยกินนมหรือไข่จะช่วยทุเลาอาการและรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อล้างท้อง ถ้าร่างกายได้รับฟลูออไรด์มากขึ้นอาจทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง เกิดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ชัก แรงดันเลือดต่ำ หัวใจล้มเหลว และอาจเกิดไตวายและตายใน 2-4 ชั่วโมง ขนาดที่กินแล้วทำให้ตายประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
แบบที่สอง การเกิดพิษแบบเรื้อรัง เกิดจากการกินฟลูออไรด์ในปริมาณมากติดต่อกันนานๆ หรืออยู่ในชุมชนที่มีฟลูออไรด์สูงตามธรรมชาติ ได้แก่
- ฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1 ส่วนในน้ำล้านส่วน ส่งผลทำให้เกิดจุดด่างขาวบนฟันในเด็กบางราย
- ฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1.4-2 ส่วนในน้ำล้านส่วน ส่งผลทำให้เกิดรอยด่างสีเหลืองถึงสีน้ำตาลที่เคลือบฟันในกลุ่มคนจำนวนน้อย
- ฟลูออไรด์ความเข้มข้นมากกว่า 2 ส่วนในน้ำล้านส่วน ส่งผลทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลในฟันในเกือบทุกราย
- ฟลูออไรด์ความเข้มข้นมากกว่า 2.5 ส่วนในน้ำล้านส่วน ส่งผลทำให้เกิดเคลือบฟันเป็นสีเข้มและไม่เรียบ
- ฟลูออไรด์ความเข้มข้นตั้งแต่ 10 ส่วนในน้ำล้านส่วน ส่งผลทำให้เกิดผลต่อกระดูกและข้อ กระดูกส่วนปลายจะหนาและหยาบ กระดูกคดงอ
ช่วงระยะสุดท้ายทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร มีการเปลี่ยนแปลงที่กระดูกสันหลังและกลายเป็นคนพิการได้ มักพบในผู้ป่วยที่ได้รับฟลูออไรด์มากเป็นระยะเวลานาน
ฟลูออไรด์อาจทำให้เกิดภาวะ โรคฟันตกกระ หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปและวัยที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงนั่นคือ วัยเด็ก โรคฟันตกกระสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเด็กอายุตั้งแต่ 12 เดือนจนกระทั่ง 32 เดือน
นอกจากนี้ ยาสีฟันก็มีฟลูออไรด์ที่มีวาง จำหน่ายตามเคาน์เตอร์ และสามารถนำมาใช้วันละหนึ่งหรือสองครั้งได้ ยาสีฟันที่ให้ฟลูออไรด์จำนวน 1,000 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน และน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ 250 ส่วนต่อล้านส่วน และจากการที่ฟลูออไรด์มักจะถูกเติมลงไปในน้ำดื่มเพื่อช่วยป้องกันฟันผุ ดังนั้นน้ำดื่มของคุณมาจากน้ำประปาสาธารณะ คุณสามารถสอบถามได้ว่ามีการเติมฟลูออไรด์หรือไม่ โดยการสอบถามจากสำนักงานประปาท้องถิ่น ถ้าน้ำดื่มของคุณมาจากน้ำบาดาลของเอกชน คุณควรนำน้ำไปตรวจสอบจากบริษัทที่ทำการตรวจสอบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นหากสงสัยเกี่ยวกับข้อมูลแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์หรือกุมารแพทย์จะสามารถบอกได้ว่าฟลูออไรด์ปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับครอบครัวของคุณ
**หมายเหตุ: บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์หากมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยใดๆ สนับสนุนข้อมูลโดย ทันตแพทย์ ธนพจน์ นิลโมจน์ คลินิค Club Smile