แผลในช่องปากเกิดจากสาเหตุอะไร และ สามารถแก้ไขปัญหา รวมถึงการรักษา ได้อย่างไรบ้าง
แผลร้อนในหรือแผลในปาก มักเกิดในช่วงวัยรุ่นและสามารถเกิดได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งอาจเกิดได้หลายสาเหตุ มีหลายประเภทดังนี้
- แผลขนาดเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1- 10 มิลลิเมตร พบได้บ่อยที่สุดและหายได้ภายใน 7-10วัน
- แผลขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง มากกว่า 10 มิลลิเมตร พบได้น้อยกว่าแผลขนาดเล็ก และอาจใช้เวลานาน10 – 30 วัน แผลจึงจะหายได้ เมื่อหายแล้วอาจกลายเป็นแผลเป็นได้
- แผลเฮอร์ปิติฟอร์ม เป็นแผลขนาดเล็กหลายแผลรวมกัน (ไม่เกี่ยวข้องกับแผลเริมในปาก) และหายได้เองใน7-10วัน
- อาการ ของแผลร้อนในหรือแผลในปากมักพบแผลตามลิ้น เยื่อบุด้านในของริมฝีปาก หรือตามเหงือก อาจเกิดได้1-2ครั้งต่อปีหรือมากกว่านั้น มักมีอาการปวดแสบร้อนที่แผล แผลในปากไม่ได้เป็นโรคติดต่อและไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้
- สาเหตุ ของแผลร้อนในหรือแผลในปาก อาจเกิดจากการแพ้อาหาร หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ บางรายเกิดจากการขาดสารอาหาร เช่น วิตามินบี12 ขาดธาตุเหล็ก ขาดวิตามินซี นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบ ความเครียด กัดโดนเยื่อบุปาก เคี้ยวของแข็ง แปรงฟันผิดวิธี รับประทานอาหารเผ็ดร้อน สูบบุหรี่หรือฟันปลอมที่สวมไม่พอดี ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของโซเดียมลอรีลซัลเฟต ก็อาจทำให้เกิดแผลในปากได้
- วิธีการรักษาและข้อแนะนำ
- ควรหลีกเลี่ยงการทานมันฝรั่งทอดหรือของแข็งที่อาจทิ่มแทงเยื่อบุปากได้ และควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดร้อน
- แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำเกลือบ้วนปาก
- ทายาที่แผลในปาก ได้แก่ ครีมยาชา หรือครีมสเตียรอยด์
- รับประทานยาแก้ปวด หรือให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ และดื่มน้ำเย็นๆ
- รับประทานวิตามินบีและซี
- ถ้าเกิดจากโรคอื่น เช่น โรคเอสแอลอี โรคโครห์น หรือ โรคเบเซ็ท ควรพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการของโรคนั้น
- ส่วนใหญ่แผลในปากจะค่อยๆ หายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ยาอื่นๆ นอกจากยาบรรเทาปวดเป็นครั้งคราว แต่หากไม่หายหรือเป็นติดต่อกันนานเกิน1 เดือนควรพิจารณา พบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนต่อไป
**หมายเหตุ: บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์หากมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยใดๆ สนับสนุนข้อมูลโดย ทันตแพทย์ ธนพจน์ นิลโมจน์ คลินิค Club Smile