เหงือกร่นเกิดจากอะไร และสามารถป้องกันได้อย่างไร
เหงือกร่น (Gingival Recession) คือ อาการที่เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณรอบๆ ฟันอ่อนแอลง จนทำให้เนื้อเหงือกค่อยๆ ร่นเข้าไปหารากฟันและทำให้เห็นตัวฟันมากขึ้น บางรายเนื้อเหงือกอาจร่นไปจนเผยให้เห็นรากฟันทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น และทำให้เกิดคราบหินปูน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวช่องปากอื่นๆ ตามมา อาการเหงือกร่นไม่สามารถรักษาให้หาย หรือกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ทำได้เพียงป้องกันเหงือกร่นลงไปอีก นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรรักษาอาการเหงือกร่น เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดความเสียหายของกระดูกฟัน จนทำให้ฟันไม่แข็งแรงและหลุดร่วงไปในที่สุด
อาการของเหงือกร่น
อาการของเหงือกร่นที่เห็นได้ คือ ลักษณะเหงือกที่เปลี่ยนไป คือเนื้อเหงือกจะร่นลงจนเห็นตัวฟันมากขึ้น หากเป็นมากๆ ก็อาจจะทำให้เห็นบริเวณคอฟันหรือรากฟันได้ชัด นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น
- มีอาการเสียวฟัน
- มีเลือดออกหลังจากแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน
- เหงือกบวมแดง
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บบริเวณเหงือก
- ฟันโยก หรือฟันมีลักษณะดูยาวกว่าปกติ
ในการกัดหรือเคี้ยว ผู้ที่เป็นเหงือกร่นอาจกัดหรือเคี้ยวได้ค่อนข้างลำบาก และยิ่งมีอาการเจ็บมากขึ้นหากกดบริเวณเหงือก อีกทั้งหากมีอาการเหงือกร่นติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการรักษาที่ดีพอ ก็จะทำให้บริเวณที่เหงือกร่นกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค นำมาสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากตามมาได้
สาเหตุของเหงือกร่น
เหงือกร่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ร้ายแรงที่สุดคือเกิดจากโรคปริทันต์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดเหงือกร่นแล้วยังนำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ จนอาจทำให้สูญเสียฟันได้ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดเหงือกร่น ได้แก่
- การแปรงฟันผิดวิธี การเลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งมากเกินไป หรือการแปรงฟันแรงๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อเหงือกเสียหายและร่นขึ้นไปจนกลายเป็นเหงือกร่นได้
- สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การแปรงฟันไม่สะอาด ไม่ใช้ไหมขัดฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก อาจก่อให้เกิดหินปูนเกาะระหว่างเหงือกและฟันได้ ซึ่งหากไม่รักษาก็จะทำให้เกิดเหงือกร่นในที่สุด
- เกิดอาการบาดเจ็บที่เหงือก เช่น อุบัติเหตุ การเจาะเหงือกและปากเพื่อความสวยงาม หรือการเล่นกีฬาที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณปาก อาจทำให้เนื้อเยื่อเหงือกตายและร่นเข้าไปที่รากฟันได้เช่นกัน
- โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเหงือก จนทำให้อวัยวะที่อยู่รอบตัวฟัน เช่น กระดูกรอบๆ รากฟันถูกทำลายจนมีขนาดลดลง เป็นสาเหตุทำให้เหงือกร่นตามลงมาด้วย
- พันธุกรรม ลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัวอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับเหงือกได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สตรีมีครรภ์ และผู้ที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพเหงือกได้โดยตรง ทำให้เหงือกอ่อนแอลง จนง่ายต่อการอักเสบและการสูญเสียเนื้อเยื่อได้
- การสูบบุหรี่ สารพิษที่อยู่ในบุหรี่เป็นตัวการสำคัญให้เกิดคราบพลัคที่ยากต่อการทำความสะอาด และหากทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดคราบหินปูน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเหงือกร่นได้
- พฤติกรรมผิดๆ ที่ติดเป็นนิสัย เช่นการกัดฟัน หรือเคี้ยวฟันขณะนอนหลับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงกดจำนวนมากที่ฟัน และส่งผลไปยังเหงือก ทำให้เหงือกอ่อนแอลงจนร่นลงไปที่โคนฟันได้
- เกิดจากการใส่อุปกรณ์จัดฟันที่ไม่พอดี อุปกรณ์จัดฟันที่แน่นเกินไป หรือไม่เข้ากับรูปฟันของผู้ป่วย จะทำให้เหงือกอ่อนแอ และร่นลงจนเห็นเนื้อฟันมากขึ้น
ดังนั้นเมื่อเกิดเหงือกร่น แนะนำไปพบทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปริทันต์ เพื่อหาสาเหตุ แก้ไขและป้องกันได้อย่างทันท่วงที
**หมายเหตุ: บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์หากมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยใดๆ สนับสนุนข้อมูลโดย ทันตแพทย์ ธนพจน์ นิลโมจน์ คลินิค Club Smile