น้ำยาบ้วนปากมีความจำเป็นหรือไม่ และควรเลือกใช้เมื่อไหร่ รวมถึงจะเลือกซื้ออย่างไร
จากการศึกษาวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาแปรงฟันโดยเฉลี่ยแค่ 46 วินาที และมักจะไม่ใช้ไหมขัดฟัน จึงทำให้การดูแลอนามัยช่องปากไม่สมบูรณ์เต็มที่ ดังนั้น นอกจากการทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี และฝึกการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดบริเวณซอกฟันแล้ว การใช้น้ำยาบ้วนปากจะช่วยให้การดูแลสุขภาพปากและฟันได้ผลดียิ่งขึ้น น้ำยาบ้วนปากสามารถซอกซอนทำความสะอาดซอกฟัน และพื้นที่ที่การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเข้าไปไม่ถึง เพื่อช่วยลดเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของฟันผุ เหงือกอักเสบและกลิ่นปาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคในช่องปาก" ปัจจุบัน มีน้ำยาบ้วนปากหลายชนิดขึ้นกับวัตถุประสงค์ ของการใช้งาน โดยอ่านจากฉลากระบุส่วนผสมหลักของน้ำบ้วนปากชนิดนั้นๆ เช่น สารยับยั้งจุลินทรีย์
1. กลุ่มบีสไบกัวนายด์
สารในกลุ่มนี้ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับยับยั้งการก่อตัวของไบโอฟิล์มในช่องปาก เช่น คลอร์เฮ็กซิดีน อะเล็กซิดีน และอ็อกเทนิดีน เป็นต้น
คลอร์เฮ็กซิดีน เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในวงกว้าง และออกฤทธิ์ในที่สุดเมื่อเทียบกับสารอื่นๆในกลุ่มนี้ มักใช้ในรูปคลอร์เฮ็กซิดีนไดกลูโคเนต สามารถต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก และแกรมลบ รวมถึงเชื้อจุลินทรีย์ที่อาศัยออกซิเจน และไม่อาศัยออกซิเจน และออกฤทธิ์ลดการอักเสบของเหงือกได้อย่างดี แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากมีรสขม หากใช้นานติดต่อกันมักเกิดคราบสีที่ผิวฟัน และลิ้น ทำให้การรับรสเปลี่ยนไป
2. กลุ่มควดเทอร์นารี แอมโมเนีย
สารในกลุ่มนี้สามารถต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้มากกว่าคลอร์เฮ็กซิดีน แต่เมื่อทดสอบนำมาใช้กลับมีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากมีความคงตัวต่อสภาวะในช่องปากต่ำ แต่มีข้อดีที่ทำให้เกิดคราบที่ฟัน และลิ้นน้อยกว่า สารในกลุ่มนี้ ได้แก่ ซิติลไพริดิเนียมคลอไรด์
3. สารประกอบฟีนอล
เป็นการใช้สารฟีนอลอย่างเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพลดการก่อตัวของไบโอฟิล์มในช่องปากได้อย่างดี โดยจะเข้าทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ และโปรตีนของแบคทีเรีย
4. โลหะหนัก
สารประกอบของโลหะหนักบางชนิดมีผลลดการเกิดคราบไบโอฟิล์มที่ฟันได้ ได้แก่ สารประกอบสังกะสี ดีบุก และทองแดง แต่มีรสชาติของโลหะและอาจมีผลต่อร่างกายหากเกิดการกลืนกิน ปัจจุบันจึงไม่นิยมนำมาเป็นส่วนผสม กลไกการออกฤทธิ์ของสารจำพวกโลหะหนักสามารถยับยั้งเชื้อรา และไบโอฟิมล์ได้ด้วยการรบกวนการทำงานของเอนไซม์บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์แบคทีเรียทำให้เกิดความปกติของการรับส่งสารผ่านเข้าออกเซลล์
5. สารสกัดจากธรรมชาติ
สารที่สกัดได้จากธรรมชาติ ปัจจุบันถือว่ามีความนิยมมากขึ้น ทั้งคุณสมบัติในการให้กลิ่นแบบธรรมชาติ และการออกฤทธิ์ที่สามารถต้านเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก และลดอาการฟันผุได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการใช้สำหรับทดแทนน้ำตาล เช่น การบูน กานพลู ไซลิทอล เป็นต้น
นอกจากสารที่กล่าวมายังมีสารอื่นที่มักใช้เป็นสารผสมเติมแต่งประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปาก ได้แก่
- Thickening or binding agent เช่น โพลีเอธิลีนไกลคอน ใช้สำหรับป้องกันการแยกตัวของส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปาก
- Humectants เช่น กลีเวอรอล และซอร์บิทอล ใช้สำหรับรักษาความชื้นให้แก่ตัวน้ำยา
- Solvent เช่น แอลกอฮอล์ ใช้สำหรับเป็นตัวทำละลาย และทำให้รู้สึกเย็นสดชื่น
- Detergents and Surfactants เช่น ทวีน 80 ทำหน้าที่สำหรับลดแรงตึงผิวของน้ำยาบ้วนปากทำให้น้ำยาสามารถแทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนั้น ยังสามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้เช่นกัน
- Preservative เช่น โซเดียมเบนโซเอท ใช้สำหรับป้องกันการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในน้ำยาบ้วนปากทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน
- Flavoring and sweeteners เช่น ไซลิทอล ใช้สำหรับเป็นสารให้ความหวานช่วยให้น้ำยาบ้วนปากมีรสชาติที่ดีขึ้น
ตัวอย่างผลิตภัณ์ และสารออกฤทธิ์หลัก
- ลิสเตอลีน-เอสเซนเซียลออยล์
- คอลเกต-ซิติลไพริดิเนียมคลอไรด์
- ฟลูออคาริล-ฟลูออไรด์
- ซิสเตมม่า-ซิงค์เลคเตต
- มายบาซิน-เอสเซนเซียลออยล์
- ออรัลเมดเอฟ-ซิติลไพริดิเนียมคลอไรด์/สารสกัดสมุนไพร/พรอพอลิส
- เฮอบริก-เอสเซนเซียลออยล์/สารสกัดสมุนไพร
แต่อย่างไรก็ตาม ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟันโดยเด็ดขาด แต่ให้ใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นแค่ตัวช่วยเสริมจากการแปรงฟันแบบปกติ ควรเลือกใช้การเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่ได้รับการรับรองเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัยจากสมาคมทันตแพทย์ชั้นนำ
**หมายเหตุ: บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์หากมีปัญหาหรือมีข้อสงสัยใดๆ สนับสนุนข้อมูลโดย ทันตแพทย์ ธนพจน์ นิลโมจน์ คลินิค Club Smile